TRIP’LE x CREATIVE & LANNA CRAFTS STORY

เชื่อว่าทุกครั้ง..เวลาที่ทุกคนนึกถึงจังหวัดเชียงใหม่
ก็คงจะอดนึกถึงบรรยากาศสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
ที่ถูกประดับไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ของตกแต่ง หรือ
เครื่องแต่งกายประจำท้องถิ่นสไตล์ล้านนาไม่ได้เลย
ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เค้ามีรากเหง้า วัฒนธรรมและ
แหล่งผลิตที่ได้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น นับหลายร้อยปี
เลยทีเดียว วันนี้เราจะพาทุกคนมาไขความลับของ
ชาวล้านนากัน ว่าของแต่ละชิ้นมาจากที่ไหนกันบ้าง
3 เรื่องราวอยู่คู่ชาวล้านนามาเนิ่นนาน แต่กลับเป็น
ความแปลกใหม่ และทำให้เราตื่นเต้นกับการได้
มาลองทำ ในสิ่งที่ไม่คิดว่าครั้งหนึ่งจะเคยได้สัมผัส
พาไปย้อนวันวาน กับการแต่งกายด้วย “ผ้าม้ง” สีสวย
สดใส ถ่ายรูปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ชุมชนเผ่าม้ง
บ้านแม่สาน้อย แหล่งผลิตผ้าม้งจากใยกัญชง ซึ่งเป็น
อัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมายาวนาน
“โคม” ของตกแต่งสีสันสวยงาม ที่ถูกประดับประดา
ห้อยระย้าเรียงรายอยู่ตามกำแพง ในวัดวาอาราม และ
มุมถ่ายรูปต่างๆ ที่สร้างความรู้สึกราวกับมีมนต์เสน่ห์
ทีเห็นแล้วก็รู้ตัวทันทีว่า เราเดินทางเข้าสู่ จ.เชียงใหม่แล้วและที่พลาดไม่ได้ก็คือ วัฒนธรรมการกินอาหารล้านนา
หรือที่รู้จักกันว่า “ขันโตก” ถือเป็นสำรับอาหารที่ใช้
ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
พาไปพบกับ ลุงอ๊อด ผู้ที่คลุกคลีกับวงการกลึงไม้ตั้งแต่
อายุ 12 ปี ซึ่งเรียกว่า ทำขันโตกมาทั้งชีวิตแล้วก็ว่าได้

โพสต์นี้เราเลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จัก
และเรียนรู้ความเป็นมาของผลงานแต่ละรูปแบบ
มากกว่าการแค่ได้เห็นถึง ความสวยงาม
ของตกแต่งของทางภาคเหนือในประเทศไทยบ้านเรา
บอกเลยว่า งดงามไม่แพ้ชาติใดในโลก ขอยืนยัน
เชื่อได้เลยว่า..พอได้รู้ที่มาที่ไปแล้ว ทุกคนจะต้อง
หลงเสน่ห์ความเป็นล้านนาไปพร้อมกันกับเราแน่

*การเดินทางครั้งนี้ พวกเราเดินทางและถ่ายทำ
ก่อนการระบาดระลอกใหม่ และอยู่ภายใต้มาตรการ
ป้องกันควบคุมโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

ผ้าใยกัญชงกับชาวม้ง ถือเป็นของคู่กันมาหลายร้อยปีแล้ว เป็นสัญลักษณ์แทนตัวเองตั้งแต่เกิดจนตาย ใช้ผูกสายสะดือ ผูกข้อมือ พิธีการต่างๆ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตก็จะต้องมีผ้าใยกัญชงอยู่ติดตัวตามไปด้วย เป็นความเชื่อที่ว่าตายไปจะได้เจอบรรพบุรุษของเรา และบรรพบุรษของเราจะได้รู้ว่าเป็นลูกหลานของตัวเอง
สมัยก่อนชาวม้งจะอาศัยอยู่ในเขาในป่า จะไม่มีเสื้อผ้าใส่ ก็จะอาศัยต้นกัญชงมาทำผ้าใยกัญชงนี่ล่ะ (ต้นกัญชงที่ไม่ใช่ต้นกัญชานะ) โดยต้นกัญชงจะมีเส้นใยลักษณะที่เหนียวและแน่นมากๆ เมื่อนำไปทำขั้นตอนวิธีการต่างๆ จนอออกมาเป็นผ้าผืนใหญ่ออกมา ก็จะนำมาทำเป็นเสื้อผ้าใช้นุ่งห่มกัน เป็นถุงใส่ของ เป็นกระสอบเก็บเกี่ยวพืชผลต่างๆด้วย
ต้นกัญชงจะปลูกได้ปีละครั้งเท่านั้น เริ่มเดือนกรกฏาคม และเก็บเกี่ยวเดือน กันยายน – ตุลาคม ถึงแม้ตอนนี้การปลูกต้นกัญชงจะยังไม่ถูกกฏหมาย 100% และจำกัดพื้นที่ในการปลูก แต่ชาวม้งก็ต้องปลูก เพราะ ต้องสืบทอดความเชื่อที่บรรพบุรษสร้างไว้มาอย่างยาวนาน นำผ้าใยกัญชงพกติดตัวไว้จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต
นี่คือใยกัญชง ที่มาจากต้นกัญชงจริงๆ เลย
สะพายตระกร้าแล้วมาทำผ้าใยกัญชงพร้อมกันเลย
 
ขั้นตอนการทำเส้นใยกัญชง
1.ลอกลำต้นออกมาให้เป็นเส้นๆ (เส้นใย) แล้วตากแดดให้แห้งประมาณ 1 อาทิตย์
2.นำเส้นใยมาตำให้เส้นขึ้นหยิกๆ เพื่อง่ายต่อการนำมาปั่น
3.นำเส้นด้ายมาปั่นต่อกันให้ยาวๆ เป็นม้วนใหญ่
4.นำมามัด แล้วแช่น้ำ ต้มนำ้นานกว่า 26 ชั่วโมง แล้วนำไปต้มขี้ผึ้ง ต่อด้วยรีด เพื่อทำการเตรียมปั่นต่อไป
5.ปั่นให้เป็นเส้นเดียวกัน
6.ขึ้นกากบาทพร้อมที่จะนำไปต้มเป็นสีขาว แบบธรรมชาติ
7.นำไปต้มจนได้สีที่พอใจ
8.นำมาเข้าม้วนพร้อมทอ
9.นำขึ้นทอให้เป็นผ้าผืนใหญ่
    
  
ซึ่งขั้นตอนทั้งหมด จะใช้เวลาการทำนานมากๆ ยกตัวอย่างเช่น เสื้อ 1 ตัว ใช้เวลาทำผ้ารวมปัก 4-5 เดือน ย้อมสีผ้า 2 อาทิตย์ เขียนลายอีก 2 อาทิตย์ รวมๆ แล้วก็ร่วมครึ่งปีเลยทีเดียว ตอนนี้เราไม่แปลกใจแล้วว่า ทำไมชุดม้งถึงขายแพงจัง ซึ่งที่บ้านแม่สาน้อย ก็มีทำกระเป๋าผ้าดิบ กระเป๋าผ้าม้ง เสื้อชนเผ่าม้ง ของที่ระลึกต่างๆ ให้กับนักท่องเที่ยวได้มาช็อปปิ้งอยู่แล้วด้วย บอกเลยว่างานทำมือแบบนี้ คุณภาพคุ้มค่าคุ้มราคาแน่นอน
 
สีน่ารักมากเลย
เตรียมเขียนเทียน ทำลายบนผ้าสวยๆ
  
หากใครสนใจอยากมาเรียนรู้เรื่องราวของผ้าใยกัญชง ที่บ้านแม่สาน้อย หรือ ดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง ยินดีต้อนรับทุกๆ คน สามารถโทรมาจองเวลาได้ตลอด ปกติจะเปิด Workshop ให้คนสนใจได้มาเรียนอยู่แล้วด้วย หรือเป็นการทำลายเขียนเทียน หรือ ปักลายผ้า โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.Workshop ทำลายเขียนด้วยขี้ผึ้ง
-จะได้ผ้ากัญชง 1 ฟุต ราคา 300 บาท
(หรือจะเลือกเป็นผ้าย้อมก็ได้ + ค่าส่งตามระยะทางอีกนิดหน่อย)
2.Workshop สอนปักลายปักผ้า
-ปักผ้าลายแบบสีๆ ราคา 80 บาท / 1ผืน / 1ฟุต
ป้าธัญพร บ้านแม่สาน้อย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
พิกัด
บ้านแม่สาน้อย 24 หมู่ 10 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180
Location : https://bit.ly/3mIxlPQ
FB : https://bit.ly/2PQuybD
WEB : www.daomang.cmru.ac.th
TEL : 092-820-8849 / 065-047-3777 ป้าธัญพร
โคม หรือโคมล้านนา เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ได้มาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบอทอดต่อกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
ปัจจุบันคนนิยมนำโคมสีสันสวยงาม มาห้อยเป็นแนวยาวประดับตกแต่งตามสถานที่ต่างๆ วัดวาอาราม หรือตามเทศกาลว้นสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะประเพณียี่เป็งหรือวันลอยกระทง ชาวล้านนาถือว่าเพื่อเป็นพุทธบูชา และมีความเชื่อว่าชาติหน้าเกิดมาจะมีสติปัญญาดีนั่นเอง หรือติดตามหน้าบ้านเพื่อเพิ่มความสว่างไสวให้กับอาคารบ้านเรือน เป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านนั่นเอง
หากพูดถึงตุงโคมใน จ.เชียงใหม่ “ชุมชนเมืองสาตรหลวง” ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ เป็นแหล่งริเริ่มในการทำโคม และมีชื่อเสียงมากที่สุด และในปัจจุบันโคมก็ถูกผลิตมาจากแหล่งชุมชนเล็กๆแห่งนี้ทั้งนั้น
 
ซึ่งครั้งนี้เราได้ไปนั่งทำโคมของจริงกับแม่ครูบัวไหล ผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ด้านโคม ที่ปัจจุบันอายุ 90 ปีแล้ว แต่ยังคงแข็งแรงมากๆ ลุกนั่งเดินสบาย ไม่ต้องให้มีใครช่วยพยุงเลยสักนิด แม่เล่าให้ฟังว่าเริ่มทำตุงโคมตั้งแต่อายุ 12 ปี ลองคิดเอง ทำเอง ออกแบบเอง จะใช้ไม้ข้าวหลามมาทำ เพราะเวลาหักจะไม่มีเสี่ยนตำมือเหมือนไม้ไผ่ ทำตั้งแต่ราคาเริ่มต้น ที่ 50 สตางค์ 12 บาท 30 บาทจนถึงหลักหมื่นมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีออเดอร์อยู่บ้าง จะต่างกันที่ วัสดุ ขนาด และความสวยงามนี่ล่ะ
หรือหากมีคนสนใจมาเรียนทำโคม ก็จะมีให้เลือกว่าจะหุ้มด้วยผ้า หรือกระดาษสา แต่ถ้ากระดาษสาจะต้องมาจากหมู่บ้านต้นเปา ที่สันกำแพง เพราะเป็นแหล่งผลิตกระดาษสาที่ทำมานานกว่า 100 ปีเท่านั้น ใครสนใจอยากศึกษาหรือลองทำตุงโคม ก็สามารถติดต่อมาเรียนได้ตลอดเลย แม่ครูบัวไหลใจดีมากๆ
อุปกรณ์การทำโคม
1.ไม้ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร
2.กรรไกร
3.กาว
4.เครื่องหักไม้
5.กระดาษสา
6.ไม้บรรทัด
7.ที่หนีบกระดาษ
8.แม็กเย็บกระดาษ
9.กระดาษทอง
เรียนไป แฮปปี้ไป คุณยายน่ารักมาก 90 แล้วยังสอนเก่งสุดๆ
งานดีเทล
วิธีการทำโคม
1.นำไม้มาหักเป็นท่อนเล็ก ท่อนยาว เท่ากันเพื่อทำเป็นโครงแปดเหลี่ยม วงใน 2 เส้น และ วงนอก 4 เส้น
2.นำเอามาวางทับซ้อนกันให้เป็นทรงโคมแล้วเอากาวมาทาตรงจุดที่ทับซ้อน ใช้ที่หนีบช่วยให้ติดแน่นเร็วขึ้น แล้วปล่อยให้แห้ง 30 นาที
3.นำกระดาษสาที่เตรียมไว้มาตัดให้ได้ตามขนาดโครง แล้วใช้กาวแปะทีละด้านจนครบ
4.ตัดกระดาษส่วนหางให้มีลวดลายสวยงามแล้วแปะที่ฐานโคม
5.ใช้กระดาษสีทองทากาวตกแต่งขอบเพื่อความสวยงาม

แถ่แด๊นนนนน !! เสร็จแล้วววว

แม่บัวไหลตัวจริง น่ารักมากๆ ชวนคุยไม่หยุดเลย ❤

แม่บัวไหล บ้านเมืองสาตรหลวง
?พิกัด
19 บ้านเมืองสาตร หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่
Location : https://bit.ly/3tj4eW6
TEL : 089-429-7247 แม่ดา


ขันโตก คือ ภาชนะที่มีลักษณะเป็นถาด ยกสูง มีขาตั้งเป็นฐาน ตั้งแต่สมัยโบราณจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีงานต่างๆ เช่นงานแต่ง งานศพ งานบุญ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ กลาง เล็ก แบ่งใช้ตามยศศักดิ์ อย่างในราชสำนักในคุ้มในวัง ครอบครัวใหญ่ คหบดี เศรษฐี พระภิกษุ และครอบครัวเล็ก ตามลำดับ

ซึ่งปัจจุบันชาวล้านนาก็ได้สืบทอดประเพณีนี้มา โดยปรับเปลี่ยนขันโตกมาใช้ในการวางสำรับต้อนรับแขกที่มาเยือนให้หรูหราสมเกียรติ และประทับใจ จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือจนถึงทุกวันนี้


โดยอาหารหลักๆ จะประกอบไปด้วยเมนู 5 อย่าง เช่น แกงอ่อม แคบหมู แกงฮังเล น้ำพริกอ่อง ผักสด แต่ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ข้าวเหนียว

ขันโตกจะมี 2 ชนิด
1.ขันโตกยวน ทำด้วยไม้สัก
2.ขันโตกลาว ทำด้วยไม้ไผ่สาน หวาย

และครั้งนี้เราได้มาที่ “บ้านตองกาย” อ.หางดง ชุมชนเก่าแก่ที่มีอาชีพกลึงไม้มามากกว่า 100 ปี เป็นแหล่งผลิตไม้กลึงที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่

พบกับ ลุงอ๊อด ปัจจุบันอายุ 66 ปี หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการกลึงไม้ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตขันโตกมาตั้งแต่อายุ 12 ปีผลิตขันโตกมาแล้วไม่น้อยกว่าพันอันแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นผู้สืบทอดการทำขันโตกรุ่นที่ 2 แล้ว ได้ปรับเปลี่ยนจากขันโตกดั้งเดิมที่เป็นไม้สักเท่านั้น มาเล่นลาย ดีไซน์เพิ่มเติม และใช้ไม้อื่นๆมาทำ

อาจารย์จิ๊บ ผู้ดูแลบ้านตองกาย ยังเล่าให้ฟังว่า ขันโตกถ้าพูดถึงในแง่สังคม วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมก็คือ สมัยก่อนคนเหนือจะอาศัยอยู่บ้านที่สร้างด้วยไม้ไผ้ ไม่ได้มีเฟอร์นิเจอร์อะไร ต้องนั่งติดพื้น จึงต้องใช้ขันโตกเป็นตัวยกขึ้นมาจากพื้นเวลากินข้าว หรือทำกิจกรรมต่างๆ โดยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศพม่านี่ล่ะ เพราะถ้าเป็นโต๊ะเก้าอี้จะมาจากประเทศจีน

ซึ่งอิทธิพลนี้ ก็ได้เผยแพร่ไปทั่วภาคเหนือ อย่าง จ.แพร่ จ.ลำปาง แต่ละพื้นที่ก็จะใช้วัสดุที่แตกต่างกันไป ซึ่งปัจจุบันก็มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย มีขันโตก ขันซี่ ใช้ไม้หนา ไม้บาง ทำขนาดเล็กลงก็ใส่ของบูชา บายศรี ใส่ดอกไม้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีความนิยมน้อยลงมากๆ และจะเริ่มหายากขึ้นเรื่อยๆและมีราคาที่แพงขึ้น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขันโตก เป็นอีก 1 สัญลักษณ์ที่ใครเห็นแล้วรู้ว่าเป็นของชาวล้านนาแน่นอน


งานละเอียดอ่อนสุดๆ


วันนี้ลุงอ๊อดก็เตรียมไม้มาโชว์พวกเราด้วยล่ะ


งานกลึงไม้แบบนี้ ต้องใช้ความชำนาญจริงๆ


ผ่านไม่ไม่ถึง 5 นาที ลุงอ๊อดก็เสกต้นไม้เป็นที่รองแก้วได้แล้ว เจ๋งสุดๆไปเลย


นอกจากไม้ที่จะดีไซน์ออกมาเป็นเครื่องใช้ต่างๆแล้ว ก็ยังสามารถนำ เปลือกไม้มารีไซเคิลทำแบบอื่นได้อีกด้วย

ลุงอ๊อด บ้านตองกาย
?พิกัด
บ้านตองกาย ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จ.เชียงใหม่ 50230
Location : https://bit.ly/2RxUlWv
FB : Baantongkai woodturning ชุมชนไม้กลึงบ้านตองกาย-โครงการ Heroesสอนหลาน
TEL : 089-695-4059 อาจารย์จิ๊บ

(:
ขอบคุณสำหรับการเดินไปกับเรา
และทุกๆคนที่ติดตาม Blogger ตัวเล็กๆอย่างพวกเรา TRIP’LE
CONTACT
Website : http://triplexanywhere.com
Facebook : https://www.facebook.com/tripleXanywhere
Instagram : @triplexanywhere
Twitter : @triplexanywhere
Youtube : https://goo.gl/i1HQ8V

Comment